インバウンドでタイ人を集客! 事例多数で万全の用意 [PR]
ナムジャイブログ
ブログポータルサイト「ナムジャイ.CC」 › 日本が好き › 2016年02月

【PR】

本広告は、一定期間更新の無いブログにのみ表示されます。
ブログ更新が行われると本広告は非表示となります。
  

Posted by namjai at

2016年02月29日

วันเกิด Pochacco สุนัขแสนน่ารัก

สวัสดี วันจันทร์สุดท้ายของเดือนแห่งความรัก วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ 4 ปีจะมีครั้งนึง ใครเกิดวันนี้ก็คงต้องฉลองวันคล้ายวันเกิด 4 ปีหนนะคะ

อย่างเช่น Pochacco คาแร็คเตอร์จากซานริโอ้ เจ้า pocha pocha เกิดในปี 1989 ที่ เมืองฟุวะฟุวะ




เจ้า Pocha Pocha เป็นสุนัขที่เดินสองขาได้แต่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนะ เอียงไปเอียงมา ชอบดอกไม้สีชมพูที่ชื่อว่า rengeso และโปรดปรานฤดูใบไม้ผลิมากที่สุด

นิสัยของเจ้า Pocha Pocha คือพยายามที่จะเดินเป็นเส้นตรง แต่ก็ต้องจบลงด้วยการเฉไฉออกนอกเส้นทางทุกครั้งที่เขาเจอกับสิ่งที่น่าสนใจระหว่างทาง

งานอดิเรก : การเดินและคุยเล่นไปเรื่อยๆ

กีฬา : บาสเก็ตบอลและฟุตบอล (ตำแหน่งผู้รักษาประตู) เขาเป็นนักกีฬาขนานแท้ที่เล่นบาสเก็ตบอลแบบสามต่อสามได้ดีเยี่ยม และเป็นผู้รักษาประตูที่ฝีมือไม่เลวเลยทีเดียว




อาหาร : Pochacco ทานมังสวิรัต โดยมีอาหารโปรดในอันดับต้นๆเป็นแครอท แล้วสิ่งที่โปรดปรานตลอดกาลก็คือไอติมกล้วย

ความสามารถพิเศษ : เดินด้วยสองขาหลัง เพราะจริงๆแล้ว เขาเป็นสุนัข !


เพื่อนซี้ Pochacco : เจ้าหนูน้อยชอปปี้




Choppi เป็นหนูบ๊องๆที่ที่คอยช่วยเหลือ Pochacco อยู่เสมอ เขาจึงกลายเป็นเพื่อนซี้ของ Pochacco เสมอมา แม้เขาจะตัวเล็กแต่ Pochacco กลับมอบพื้นที่เต็มหัวใจไว้ให้เขา ! งานอดิเรกของ Choppi ก็คือการทานขนมปัง ใส้ครีมราดด้วยพุดดิ้งแสนอร่อย และนี่ก็เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขาต้องกระโดดขึ้นลงด้วยความดีใจทุกครั้ง เจ้าหนูน้อยน่ารักตัวนี้มีนิสัยที่ร่าเริง ง่ายๆ สบายๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน


แล้วนอกจากนี้ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ยังเป็นวันแห่งกระเทียม (にんにくの日, Ninniku no Hi) อีกด้วย สาเหตุเพราะการเล่นเสียงในญี่ปุ่นอีกเช่นเคย にん(2) に (2) く (9) = にんにく จึงกลายเป็นวันกระเทียมไปซะเลย

  

Posted by mod at 13:23Comments(0)

2016年02月26日

ครัวซองต์ไทยากิ

สวัสดีวันศุกร์ค่ะ

วันศุกร์ อาจเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ในการทำงานของใครบางคน แต่สำหรับฉันยังเหลือวันเสาร์ที่ต้องทำงานอีกวันค่ะ แต่ก็มีความสุขในทุกๆ วันนะคะ

วันก่อนมีลาภปากคะ น้องสาวซื้อขนมครัวซองไทยากิมาให้แม่กิน ก็เลยได้อานิสงส์ได้กินด้วย (อิอิ) จริงๆ เขาฮิตกันมาตั้งนานแล้ว แต่ตัวเองก็เดินผ่านหลายรอบแล้ว ว่าจะซื้อกินดู แต่มันก็แอบแพงนะ




ปกติเคยกินแต่ไทยากิแบบดั้งเดิมที่เป็นแป้งหนาๆ กินไปแล้วรู้สึกเลี่ยน แต่ขนมครัวซองนี้เขาใช้แป้งครัวซองต์ ด้วยการคิดค้นสูตรพิเศษด้วยแป้งที่มีความหนาถึง 24 ชั้น ทำให้มีความนุ่ม ความหอม ความกรอบ ด้วยการอบนาน 5 นาที อุณหภูมิที่ 175 องศาเซล อร่อยมากเลย






ทีนี้ เรามาดูคำว่า "ไทยากิ (Taiyaki : 鯛焼き)" กันนะคะ สำหรับคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นมา พอมองจากตัวอักษรแล้วคงพอเดาออกว่ามีความหมายว่าอย่างไร

鯛 คือ ปลาไท ลักษณะคล้ายปลากระพง เป็นปลานำโชคของญี่ปุ่น ส่วน 焼き คือ การย่าง เพราะฉะนั้นขนมชนิดนี้คือ “ปลาไทย่าง”

หลักๆที่ร้านทำขายจะมี 2 ไส้คือไส้ออริจินัล (ถั่วแดง) รสชาติพอดีไม่หวานมาก และไส้คัสตาร์ด ที่ไม่ต้องกลัวว่าชิ้นนั้นไส้เยอะ ชิ้นนี้ไส้น้อย เพราะทุกชิ้นเค้าชั่งน้ำหนักให้เท่ากันหมด ฉันชอบทั้ง 2 ไส้เลยค่ะ

จุดเด่นอีกอย่างของ “ครัวซองต์ไทยากิ” ก็คือ เค้าจะมีการเคลือบด้วยเกล็ดน้ำตาลเกล็ดใหญ่ ซึ่งพอผ่านการอบด้วยเตาที่พิมพ์รูปปลาแล้ว น้ำตาลบางเกล็ดก็จะละลายเคลือบแป้งให้รสหวาน บางเกล็ดที่ไม่ละลายก็จะเกาะอยู่ที่ผิวแป้ง เวลากัดแล้วจะกรุบๆอยู่ในปาก




ฟินมากเลยค่ะ


  

Posted by mod at 17:13Comments(0)

2016年02月25日

3 MU คือ?

สวัสดี วันพฤหัสค่ะ

เมื่อวานคนเมือง (都会の人)อย่างพวกเรา คงรู้สึกติดขัดกันเล็กน้อยนะคะ เกี่ยวกับการเดินทาง ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชินกับการขึ้นรถเมล์เท่าไร แต่การได้กลับมาใช้บริการรถเมล์อีกครั้งก็สนุกดีนะคะ

อาจจะมีหลายคนที่รู้สึกหงุดหงิดบ้างกับ BTS แต่ฉันเองก็คิดว่าทางด้าน BTS ก็พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้วล่ะคะ

เรื่องนี้ทำให้ฉันคิดไปถึงระบบการทำงานของญี่ปุ่นขึ้นมา ไม่ทราบว่า เพื่อนๆ คุ้นเคยกับหลักการ 3 MU กันบ้างมัยคะ




คำว่า MU เอามาจากคำแรกของภาษาญี่ปุ่น ได้แก่
ムダ MUDA มุดะ = ความสูญเปล่า
ムラ MURA มุระ = ความไม่สม่ำเสมอ
ムリ MURI มุริ = การฝืนทำ,เกินกำลัง

ถ้า 3 สิ่งนี้ แทรกตัวอยู่ในการปฏิบัติงานจะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ สร้างปัญหาในการทำงาน เราจึงต้องทำการกำจัด 3 MU นี้ออกไป ถ้าเราสามารถกำจัด 3 สิ่งนี้ได้ เราจะสามารถลดเวลาที่ไม่ทำให้เกิดผลงานได้ ในทางกลับกันก็สามารถเพิ่มเวลาที่ทำให้เกิดผลงานได้มากขึ้น
เรามาดูกันดีกว่าว่าแต่ละตัวมีรายละเอียดอะไรกันบ้าง

Muda หรือความสูญเปล่า อาจเกิดได้หลายแบบ เช่น ความสูญเปล่าที่เกิดจากการรอ การเคลื่อนย้าย การปรับเปลี่ยน การทำใหม่ การถกเถียง เช่น การประชุมอาจเกิดความสูญเปล่าได้ หากการประชุมนั้นกลายเป็นการถกเถียงกัน ทำให้เสียเวลาไปกับการประชุมที่ไม่ได้ข้อสรุป หรือในการทำกิจกรรมการขาย ถ้าไม่มีการวางแผนในการจัดพื้นที่การไปพบลูกค้า ก็จะเสียเวลาในการเดินทางและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

Mura คือ ความไม่สม่ำเสมอ หากทำงานด้วยความไม่สม่ำเสมอตั้งแต่กระบวนการทำงาน ปริมาณงาน หรือ อารมณ์ในการทำงาน ผลของงานย่อมเกิดความไม่สม่ำเสมอ กระบวนการที่ถูกขัดจังหวะไม่ราบรื่น ดังนั้น คนทำงานจึงต้องมีความพร้อมในการทำงาน พร้อมด้านความรู้ ความเข้าใจ พร้อมด้านทัศนคติ และพร้อมด้านอารมณ์ ผลของงานที่ออกมาจะเป็นไปตามมาตรฐาน

Muri คือ การฝืนทำอาจจะเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยยาก สภาพความพร้อมของปัจจัยด้านต่างๆ รวมถึง การดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติที่เหมาะสม การฝืนทำสิ่งใดๆ ที่สุดวิสัยความสามารถมักจะทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว เช่น การวางแผนงานที่เป็นไปได้ยากในการปฏิบัติ ความไม่เหมาะสมในการวางแผนงาน ความไม่สอดคล้องกันในเรื่องของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเรื่องของเวลา ทรัพยากร และปริมาณงาน อาจจะก่อให้เกิดการทำงานให้เสร็จๆ ไปอย่างไม่ตั้งใจ หรือ การทำงานที่ฝืนความสามารถของตนทั้งความรู้ ร่างกาย และจิตใจ การทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ เป็นการฝืนร่างกายซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

หลักการง่ายๆ ในการปฏิบัติ คือ เราทุกคนควรพัฒนาตนด้วยการปฏิบัติตนในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย อย่างสม่ำเสมอตามความรู้ ความสามารถ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องนะคะ
  

Posted by mod at 11:57Comments(0)

2016年02月24日

อะไรคือ ホウレンソウ?

สวัสดีเช้าวันพุธค่ะ หลังจากหยุดติดกันไป 3 วัน เมื่อวานก็เป็นการทำงานวันแรกของสัปดาห์นี้

วันนี้มีคำศัพท์เกี่ยวกับการทำงานมาคุยให้ฟังค่ะ เพื่อนๆ เคยได้ยินคำว่า “โฮเรนโซ” มัยค่ะ




ฉันเคยได้ยินครั้งแรกตอนไปดูการเรียนการสอนที่ญี่ปุ่นค่ะ ตอนแรกก็คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่เกี่ยวกับการวางแผนการสอน อาจารย์ท่านนั้นก็พูดขึ้นมาว่า การทำงานกับคนญี่ปุ่นนั้น หลักพื้นฐานคือ “โฮเรนโซ” ฉันก็งงนิดๆ ก็คุยเรื่องงานกัน ทำไมอาจารย์ไปพูดถึงเรื่องของกินนะ




ก็เพราะว่า คำว่า “โฮเรนโซ” แปลตรงตัวว่า ผักโขม [ホウレンソウ(菠薐草、学名:Spinacia oleracea)] อาจารย์ก็เห็นฉันทำหน้างง ก็เลยอธิบายให้ฟัง ถ้าเป็นคำศัพท์สำหรับในการทำงาน報・連・相(ほう・れん・そう)มันจะย่อมาจากคำว่า “โฮโคคุ” (「報告」รายงาน) , “เรนระคุ” (「連絡」บอกกล่าว), โซดัน (「相談」ปรึกษา) นับเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน แล้วก็อย่าลืมเพิ่มการ “คะคุนิน” (「確認」ตรวจสอบ) เข้าไปด้วย

งั้นเรามาดูกันแต่ละคำกันนะคะ




1. Hou = 報告 (ほうこく houkoku) อ่านว่า โฮโคะคุ แปลว่า การรายงาน
เป็นการรายงานสิ่งที่ได้ทำไป ซึ่งการรายงานผลการทำงานไม่ว่าอยู่ในสถานะแบบไหน เราจำเป็นต้องมีการรายงานความคืบหน้าและผลการดำเนินงานหรือแม้กระทั่งปัญหาที่เกิดขึ้น ให้หัวหน้างานรับทราบทุกครั้ง ต้องรายงานผลแบบตรงไปตรงมา เพื่อความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

2. Ren = 連絡 (れんらく renraku) อ่านว่า เรนระคุ แปลว่า การติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง
เป็นการติดต่อสื่อสารและการประสานงานกัน เป็นส่วนสำคัญของการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากความร่วมมือซึ่งกันและกันในแต่ละส่วนงานเป็นผลให้เกิดความราบรื่นในการทำงานของทุกภาคส่วน รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีของแต่ละฝ่ายอีกด้วย

3. Sou = 相談 (そうだん soudan) อ่านว่า โซดัน แปลว่า การปรึกษาหารือ
การปรึกษาหารือ เมื่อไม่เข้าหรือมีข้อสงสัยไม่แน่ใจ เราไม่ควรจะตัดสินใจเองโดยพลการ จะต้องปรึกษาหัวหน้าหรือทีมงาน แนวคิด การวางแผน การตัดสินใจทุกอย่างควรต้องมีความรอบคอบและเชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จ และได้ผลลัพธ์ที่ดี

คนญี่ปุ่นทุกคนจะรู้ว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการทำงาน ดังนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์ดังด้านล่างนี้ ต้องใช้ “โฮเรนโซ” เข้ามาช่วยนะคะ

1.เมื่อมีเรื่องที่ไม่เข้าใจ ให้ถามหัวหน้า รุ่นพี่ หรือเพื่อนร่วมงานด้วยตนเอง
2.เมื่อได้รับการติดต่อเข้ามาจากบริษัทอื่น ให้รายงานหัวหน้าด้วยตนเอง
3.เมื่องานมีปัญหา จัดลำดับงานไม่ถูก ให้ปรึกษาหัวหน้า

ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานของการทำงาน
  

Posted by mod at 08:20Comments(0)

2016年02月23日

ネコの日 วันแห่งแมว

เมื่อวานเป็นวันหยุดมาฆบูชา ก็เลยมีโอกาสได้พักผ่อนอยู่บ้านสบายๆ อีกวัน ตอนนั่งเล่นอ่านหนังสืออยู่หน้าบ้าน ได้เจอกับเจ้าเหมียวน้อยสีขาวน่ารักตัวหนึ่ง ปกติที่บ้านไม่ได้เลี้ยงแมวหรือสุนัขไว้ แต่มักจะมีสัตว์เหล่านี้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน เดินเล่นในบ้านบ่อยๆ ก็เพลินดีนะคะ มันชอบมานั่งและนอนเล่นบนต้นไม้ที่บ้านแล้ว

จริงๆ แล้วน้องแมวเหมียว เป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักน่าเอ็นดูมากเลยทีเดียว ด้วยหน้าตาที่บ้องแบ๊ว แล้วก็นิสัยที่ขี้อ้อน เลยทำให้เราตกหลุมรักมันได้ง่ายๆ จนกลายเป็นสัตว์เพื่อนซี้ และคอยแก้เหงาให้เราได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น น้องแมวถือว่าเป็นสัตว์ที่สำคัญ และเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ขนาดที่มีการตั้งวันให้กับน้องแมวกันเลยทีเดียว
วันแห่งแมว หรือ Neko No Hi (猫の日) ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ของทุกปี




สำหรับเหตุผลที่คนญี่ปุ่นกำหนดให้วันนี้เป็นวันแมวเหมียว ก็เพราะในภาษาญี่ปุ่นนั้น แมวจะร้องว่า “เนี๊ย เนี๊ย เนี๊ย” ถ้าเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นก็จะได้ว่า ニャー、ニャー、ニャー ในเสียงร้องนั้นมีคำว่า ニ (นิ) อยู่ซึ่งแปลว่าเลข 2 อยู่แถมเวลาออกเสียงสั้น ๆ ยังพ้องเข้ากับคำว่า ニ, ニ, ニ หรือ 2-2-2 ด้วย คนญี่ปุ่นก็เลยถือเอาวันที่ 22 เดือน 2 หรือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งแมวนั่นเอง


กิจกรรมสำหรับคนญี่ปุ่นที่รักแมว ก็จะมีอย่างเช่นโพสต์รูปแมวหรือวีดีโอแมวให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน จัดกิจกรรมประกวดแต่งตัวคอสเพลย์แมวบ้าง จัดบู้ธเกี่ยวกับแมวบ้าง ก็น่ารักดีนะคะ

อย่างที่บอกไปแล้วว่า แมวผูกพันกับสังคมญี่ปุ่นมานานมาก ก็เลยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแมวมากมาย อย่างเช่น




เนะโกะมะตะ หรือ แมวผี (ญี่ปุ่น: 猫又 Nekomata ) มีเรื่องเล่ามาว่า เมื่อแมวบางตัวมีอายุมากจะมีตบะสูงขึ้น แล้วกลายเป็นแมวผี ที่เรียกว่าบะเกะเนะโกะ (化け猫) ซึ่งมีหลายวิธีที่มันจะสามารถกลายเป็นบะเกะเนะโกะได้ และเมื่อหางมันแยกออกเป็น 2 หาง มันถึงจะพัฒนากลายเป็นเนะโกะมะตะ ซึ่งเนะโกะมะตะสามารถขยายตัวได้ถึง 1 เมตร และส่วนมากจะเดินด้วยขาหลัง 2 ขา และมันเป็นผีที่ไม่ยอมให้ใครมาดูถูก ถ้าใครปฏิบัติกับมันไม่ดี มันจะจดจำอย่างฝังใจ เชื่อกันว่าการเต้นรำของเนะโกะมะตะสามารถควบคุมคนตายได้ และยังเชื่ออีกว่าเนะโกะมะตะเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ที่ผิดปกติ จึงมีความเชื่อบางอย่างที่จะตัดหางแมวออกซะ เพื่อป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นเนะโกะมะตะ




นอกจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีแล้ว ก็ยังมีพวกแมวนำโชคอีก อย่างมะเนะกิเนะโกะ แมวกวัก (ญี่ปุ่น: 招き猫 maneki-neko ) เป็นรูปปั้นแมวตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นว่าจะนำโชค นำลาภ สำหรับร้านค้าก็จะดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านเช่นเดียวกับนางกวักของไทย หน้าตาของแมวกวักคล้ายคลึงกับแมวพันธุ์พื้นเมืองของญี่ปุ่นชนิดหนึ่งที่ไม่มีหางที่เรียกว่า เชอแปนิสบ๊อบเทล (Japanese Bobtail)

ตำนานของแมวกวักมีหลายเรื่อง เรื่องที่ขึ้นชื่อ คือ เรื่องที่เล่ากันว่าเกิดขึ้นในยุคเอะโดะ มีหญิงชราคนหนึ่ง ยากจนมาก แต่นางมีแมวเลี้ยงอยู่ตัวหนึ่งและรักแมวมาก มีกินก็กินร่วมกับแมว อดก็อดพร้อมกับแมว จนในที่สุดก็ไม่สามารถเลี้ยงไหว จึงนำไปปล่อย คืนนั้นเอง นางก็นอนเสียใจร้องไห้ทั้งคืน กระทั่งฝันว่าแมว มาบอกกับนางว่า ให้ปั้นรูปแมวจากดินเหนียวแล้วนางจะโชคดี เช้าวันรุ่งขึ้น หญิงชราจึงตื่นขึ้นมาปั้นแมวจากดินเหนียว ไม่ทันไรก็มีคนแปลกหน้าเดินผ่านหน้าบ้านขอซื้อตุ๊กตาแมวตัวนั้นจากนางไป จากนั้นนางก็เพียรปั้นแมวขึ้นมาอีกตัวแล้วตัวเล่า ตุ๊กตาแมวจากการปั้นของนางก็มีผู้มาขอซื้อไปตลอดเวลา นางจึงเริ่มมีเงินทองจากการขายตุ๊กตาแมว และสามารถนำแมวเลี้ยงสุดที่รักของนางกลับมาเลี้ยงได้อีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นที่ร่ำลือว่า แมวเป็นสัตว์นำโชค และมีการปั้นและวางแมวกวักไว้ตามที่ต่าง ๆ

เรียกได้ว่าแมวนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงคู่กับสังคมจริงๆ นะคะ ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม อย่างประเทศไทยเองก็มีประเพณีแห่นางแมว ที่นิยมจัดขึ้นในปีที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูการหรือฝนแล้ง เพื่ออ้อนวอนขอให้ฝนตกลงมาสร้างความชุ่มชื่นแก่แผ่นดินและพื้นที่ทำสวนทำไร่ของทุกคน




ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับแมวนั้น คนไทยเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่มีอำนาจลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อนำมาทำพิธีแล้วจะช่วยเรียกฝนให้ตกลงมาได้ หรือถ้าเป็นความเชื่อของชาวอีสานจะมีความเชื่อว่าเมื่อฝนไม่ตกให้ใช้สัตว์ที่มีสีเดียวกับเมฆเรียกฝน จะทำให้ฝนตกลงมาได้เช่นกันและสัตว์ประเภทเดียวที่มีสีเมฆคือแมวสีสวาท



หรือถ้าก้างปลาติดคอก็จะจับอุ้งเท้าแมวมาลูบบริเวณคอที่ก้างปลาติดอยู่ แต่ก็แปลกนะคะ บางทีมันก็หลุดออกมาจริงๆ ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่นะคะ

ส่วนแมวตัวนี้ เป็นแมวตอนที่ฉันไปญี่ปุ่น มันมักจะมานั่งรอเป็นเพื่อนฉันตอนเช้าๆ ก่อนประตูโรงเรียนจะเปิดค่ะ เราก็เลยกลายเป็นเพื่อนซี้กันไป




  

Posted by mod at 13:14Comments(1)

2016年02月19日

大好きなお寿司 Part 2


สวัสดี วันศุกร์สีฟ้านะคะ วันศุกร์แล้ว อย่าลืมคิดถึงกันวันเสาร์-อาทิตย์นะคะ

เมื่อวานพูดเรื่องซูชิ แต่ยังไม่สะใจคะ ขอต่ออีกนิดนะคะ

บางครั้งเราไม่อยากออกไปทานข้าวนอกบ้าน ก็จะมีการสั่งมาทานที่บ้านบ้าง อย่างบางครั้งเราสั่งซูชิให้มาส่งที่บ้าน สมัยนี้อาจไม่ค่อยมีร้านที่ใส่ภาชนะที่เป็นถาดที่ต้องคืนแล้ว อาจใส่เป็นพวกถาดพลาสติกที่กินแล้วทิ้งได้เลยนะคะ

แต่ถ้าเป็นร้านซูชิแบบดั้งเดิม ถ้าเราสั่งซูชิมาส่งที่บ้านล่ะก็ เมนูอาหารของซูชิที่ส่งตามบ้านนั้นมีหลากหลาย บางทีก็จะระบุเป็น “โช (ต้นสน), ชิกุ (ต้นไผ่), ไบ (ต้นท้อ) ซึ่งบ่งบอกถึงลำดับขั้นของซูชิ ที่ญี่ปุ่น ต้นสน ต้นไผ่ ต้นท้อ ถือเป็นพันธุ์ไม้นำโชค จึงถูกใช้เป็นชื่อเรียกอาหาร โดยทั่วไปจะมีความหมาย ดังนี้ ต้นสน = ชุดพิเศษมาก ต้นไผ่=ชุดพิเศษ ต้นท้อ=ชุดธรรมดา




การสั่งซูชิมาทานที่บ้านนั้น ถ้าภาชนะที่ใส่มาเป็นถาดที่ต้องคืนร้านล่ะก็ เราต้องล้างถาดใส่ซูชิให้สะอาดก่อนคืน เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว จะนำไปวางที่หน้าประตูบ้าน พนักงานของร้านจะมาเก็บภายหลัง

แล้วฉันก็แอบชอบรหัสลับที่รู้กันในร้านซูชินะคะ อย่างเช่น



อางาริ = น้ำชา หรือแสดงความหมายว่า “อิ่มแล้ว”

แล้วทำไมเรียก “ชา” ว่า 「あがり」(Agari) ?

ปกติภาษาญี่ปุ่น เราจะเรียกชาว่า お茶 Ocha โอะฉะ กันอย่างง่ายๆ
แต่สำหรับต้นกำเนิดของคำว่า 上がり อาการิซึ่งแปลว่า ยก ที่ใช้ในร้านซูชินั้น มีต้นกำเนิดมาจากหอนางโลมหรือย่านเที่ยวกลางคืนในสมัยก่อน งานชงชาจะเป็นงานของเกอิชาที่ขายไม่ออกไม่มีงานอะไรทำเลยว่างจัดในวันนั้น เวลามีแขกมาหา เกอิชาที่เป็นผู้รับแขกก็จะเรียกกับเกอิชาที่มีหน้าที่ชงชาว่า“おあがりさん” โอะอาการิซัง หรือผู้ยก (น้ำชา) นั่นเอง ซึ่งกลายเป็นว่า คำว่า โอะฉะหรือน้ำชาจะกลายเป็นคำล้อเลียนไป จึงเลี่ยงไปเรียกว่า “ยกมา” แทน

ทั้งนี้ ยังมีคำว่า 上がり花 AgariBana อาการิบานะ ใช้เรียกน้ำชาที่ยกมาตอนแขกเพิ่งจะมาเดี๋ยวนี้เอง ยังไม่ทันทำอะไรก็ยกมาเสียแล้ว คำว่า 花 hana ที่ปกติแปลว่าดอกไม้ แต่จริงๆแล้วแปลว่า “แรกสุด”ได้อีกด้วย (คงมีที่มาจากซากุระที่ผลิดอกทันทีหลังฤดูหนาวเป็นการบอกว่าใบไม้ผลิจะเริ่มต้น – ซากุระเป็นต้นไม้ที่ออกดอกก่อนใบ)

★お茶のことを「あがり」とは、何があがりになった?

寿司のお店にゆくと、お茶のことを「あがり」と言っています。お茶があがりとはどうしてなのか? これはもともと花柳界の縁起をかついだ言葉から出たものです。その昔、お茶の葉は粗製のままのものを買って、家の茶臼で挽いていました。このお茶を挽く仕事は、花柳界では、その日売れ残った芸者の仕事でした。そこで売れ残りの芸者さんを「お茶ぴき」と言うようになり、また、お呼びのかかった芸者さんは、「おあがりさん」と言ってお座敷にあがりました。このように「お茶」という言葉は、売れ残りを指す縁起の悪い言葉であると思われたので、お茶のことを縁起を担いで、「あがり」というようになりました。また遊郭では、お客が来るとすぐに出したお茶の「上がり花」からお茶を「あがり」と呼ぶようになり、これが寿司店にも次第に入ってきたようです。

お茶は「あがり」



ต่อมาคือ วาซาบิของร้านซูชิจะถูกเรียกว่า “ซาบิ” หรือ 涙 Namida (น้ำตา) นั่นเอง เดาว่าน่าจะมาจากวาซาบิฉุน และพอกินเข้าไปแล้วน้ำตาจะไหลพรากนั่นเอง



อีกคำนึงก็คือ โชยุร้านซูชิจะถูกเรียกว่า 紫Murasaki หรือ สีม่วง นั่นเอง เนื่องจากในสมัยเอโดะนั้น โชยุเป็นเครื่องปรุงสำหรับชนชั้นสูงที่ราคาแพงงงลิบ แพงกว่าเกลือสักแปดเท่าได้ และในสมัยนั้นเอง สีม่วงคือสีที่ถูกกำหนดมาแต่โบราณว่าเป็นสีของชนชั้นสูง เครื่องย้อมสีม่วงเองก็ถือว่าเป็นของมีราคา และสีของโชยุที่เข้มข้นแลคล้ายสีม่วง จึงแทนคำว่าสีม่วงให้กับโชยุเพื่อยกว่าเป็นของล้ำค่านั่นเอง

แต่มีอีกตำนานหนึ่งบอกว่า โชยุนั้นมีต้นกำเนิดจากชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้ตีนเขาทสึคุบะ(筑波山) ซึ่งเขาทสึคุบะนั้นมีฉายาว่า 紫峰 Shihou แปลว่า ยอดเขาสีม่วง(เวลาพลบค่ำแล้วจะเห็นเป็นสีม่วง) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตโชยุ โชยุก็เลยถูกเรียกว่าสีม่วงไปโดยปริยาย
醤油のことをどうして「むらさき」と言うのだろう?

江戸時代、八代将軍の吉宗のころになると、町には料理屋が多くでき、醤油は調味料として重宝に使われるようになりました。しかし当時は非常に高いもので、塩の8倍にもなる価格であったそうです。また紫という色は昔から高貴な色とされ、染物でも紫は高価なものでした。こんなことと、醤油の色が濃い紫色のようであることから、いつしか貴重なものの代名詞として醤油のことを「むらさき」と言うようになりました。

もう一つの説があります。醤油は、筑波山の麓付近で多く生産されていました。また筑波山の雅称が紫峰(しほう)といったことから、醤油の産地でもあることから、醤油のことを「むらさき」と言うようになりました。

醤油のことは「むらさき」という。

ขอฝากไว้แค่เล็กๆ น้อยๆ ก่อนนะคะ จริงๆ แล้วยังมีรหัสลับอีกเยอะค่ะ ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังใหม่นะคะ
  

Posted by mod at 15:26Comments(0)

2016年02月18日

寿司が大好き!

สวัสดี วันพฤหัสบดีค่ะ

เมื่อคืนนั่งเล่นเฟสบุ๊คอยู่ ก็มีคนโพสต์ว่าไปกินโน่นกินนี่กันมากมาย แต่ไปโดนใจตรงซูชิ เกิดอยากกินขึ้นมาซะงั้น เที่ยงคืนแล้วจะกินที่ไหนล่ะ เก็บความอยากไว้ก่อน




ก็เลยนึกไปถึงตอนที่ไปอยู่ญี่ปุ่น ฉันเองทำงานพิเศษที่ปั๊มน้ำมัน พอช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทางเจ้าของก็พาไปทานซูชิ ขอบอกว่าอร่อยมากๆ ตอนนี้ก็ยังไม่ลืมรสชาติแสนอร่อยนั้นเลย มันติดอยู่ที่ปลายลิ้นจริงๆ เพราะถ้าเป็นร้านซูชิแบบออริจินัลจริงๆ นั้น ต้องบอกว่ามันอร่อยมาก




แม้ปัจจุบัน เราจะสามารถหาซูชิกินได้ง่ายในราคาย่อมเยาตามร้านไคเต็นซูชิ 「回転寿司」(ซูชิที่เลื่อนมาตามสายพาน) หรืออาหารกล่องในร้านสะดวกซื้อ แต่ซูชิก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของ “อาหารชั้นเลิศ”หากมีคนพาไปเลี้ยงที่ร้านซูชิหรือได้รับเชิญไปที่บ้าน แล้วเจ้าของบ้านเลี้ยงอาหารประเภทซูชิ ก็ขอให้รับคำเชิญนั้นเถอะค่ะ




ร้านคัปปะซูชิที่ฉันไปทานบ่อยๆ เพราะราคาย่อมเยา สบายกระเป๋าค่ะ


แล้วก็แอบชอบชิงคันเซนที่บรรทุกอาหารมาให้ด้วยค่ะ น่ารักมาก

เพราะถ้าไปกินเองตามร้านแบบออริจินัลจริงๆ บางร้านมักจะไม่มีป้ายบอกราคา ก็ลำบากใจตอนจ่ายตังค์อยู่นะคะ

แล้วทำไมที่ร้านซูชิ ถึงไม่มีป้ายบอกราคาล่ะ?




เพราะราคาวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารในวันนั้น อาจเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ ร้านซูชิมักถูกใช้เป็นสถานที่รับรองลูกค้า (จึงไม่อยากให้ลูกค้ารู้ราคา) จึงมีร้านซูชิที่ไม่มีเมนูหรือไม่ติดป้ายบอกราคา แต่จะติดป้ายว่า “ราคาตามฤดูกาล” แทน

แล้วใครบ้างค่ะ ที่เป็นคนแพ้วาซาบิ กินทีไรเป็นต้องหลั่งน้ำตา เราสามารถขอให้ทำแบบ “ไม่ใส่วาซาบิ” ก็ได้นะคะ เราจะเรียกซูชิที่ไม่ใส่วาซาบิว่า “さび抜き” (sabinuki = without Japanese horseradish /wasabi-free)” ในกรณีที่สั่งให้มาส่งที่บ้านหรือไปกินที่ร้านไคเตนซูชิก็เหมือนกัน




เคล็ดลับ : หากวาซาบิฉุนเกินไป ควรกินขิงดองแทนดื่มน้ำชา เพราะจะช่วยลดความเผ็ดฉุนได้




แล้วมารยาทที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ร้านซูชิบางแห่งมักจะมีหน้าร้านที่ไม่ใหญ่นัก ดังนั้นการที่ลูกค้าเพียงคนเดียวสูบบุหรี่ จะทำให้เสียบรรยากาศไปทั้งร้านได้ จึงได้มีการห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด



  

Posted by mod at 16:20Comments(1)

2016年02月17日

แฟชั่น "ควาบัง" กระเป๋าขนม

สวัสดี วันพุธสีเขียวค่ะ

เช้านี้ ไม่ต้องรีบออกไปทำงาน (เพราะว่ามหาวิทยาลัย cancel class) ก็เลยมีโอกาสได้ดูรายการ Women to Women (ผู้หญิงถึงผู้หญิง) ค่ะ

ในรายการมีการพูดคุยถึงเทรนด์กระเป๋าขนมของเกาหลี ฉันรู้สึกตื่นเต้นมากเลย แต่สำหรับบางคนอาจคิดว่าเป็นเทรนด์เก่าที่ฮิตกันมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว

แต่ฉันเองเพิ่งรู้จัก ก็เลยตื่นตาตื่นใจมาก แฟชั่นนั้นก็คือการเอา “ขนมถุง” มาทำเป็นกระเป๋าให้เพื่อนเรียกว่า "ควาบัง" แล้วก็สะพายกันเป็นกลุ่มแก๊ง ยิ่งขนมแปลกๆ น่ากินๆ ยิ่งเท่





ดูซิค่ะกระเป๋าแต่ละใบ "น่ากิน" ทั้งนั้นเลย

ฉันคิดว่าเป็นไอเดียที่บรรเจิดมากๆ ฉันว่าเหมาะกับยุคสมัยที่เด็กๆ ไม่ว่าที่ประเทศไทย หรือญี่ปุ่นที่ต้องไปเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน หรือวันเสาร์ วันอาทิตย์ที่ตารางเรียนแน่นขนาดไม่มีเวลากินข้าวนะ

แต่ฉันว่าถ้าเปลี่ยนจากขนมถุงๆ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ขึ้นมาอีกนิดน่าจะดีนะคะ ฉันว่าจะลองเลียนแบบบ้าง เพราะบางครั้งมีสอนติดๆ กัน ไม่เวลาไปกินข้าวเป็นเรื่องเป็นราว เป็นไอเดียที่ดีค่ะ ถ้าฉันทำแล้วจะเอารูปมาฝากนะคะ ว่ากระเป๋า "ควาบัง" ของฉันจะเป็นสไตล์ไหน?

  

Posted by mod at 12:00Comments(0)

2016年02月16日

ทิป หรือสินน้ำใจ

สวัสดี วันอังคารสีชมพูค่ะ

เมื่อวันก่อนไปทานข้าวกับเพื่อนคนญี่ปุ่นมาค่ะ ก็ไปร้านอาหารญี่ปุ่นน่ะแหละค่ะ ขณะทานไปคุยไปอย่างสนุกสนาน ก็มีโต๊ะข้างๆ เรียกเก็บเงิน แล้วตอนที่พนักงานบริการมาทอนเงิน คนโต๊ะข้างๆ ก็ให้ทิปพนักงานคนนั้น เพื่อนคนญี่ปุ่นก็หันมาถามว่า คนไทยต้องให้ทิปกันด้วยเหรอ ฉันก็ตอบเข้าไปว่าบางคนก็ให้ บางคนก็ไม่ให้ เพราะการให้ทิปก็ไม่ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของคนไทยเสียทีเดียว




แต่ในสังคมของประเทศญี่ปุ่นนั้นจะไม่มีธรรมเนียมในการให้ทิป ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นรถแท็กซี่ การทานอาหารที่ร้านอาหาร การเข้าพักที่โรงแรม ฯลฯ เพราะจะมีการรวมค่าบริการเข้าไปอยู่ในราคาสิ่งของและการบริการแล้ว เช่นในโรงแรมหรือที่พักสไตล์ญี่ปุ่นจะมีการเรียกเก็บค่าบริการ 5-10% ของยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อจะนำเงินค่าบริการเหล่านี้มาให้กับผู้ที่ทำหน้าที่คอยดูแลและบริการแขกที่เข้ามาพัก เป็นต้น

ดังนั้นจึงไม่ต้องให้ทิป เพราะคนญี่ปุ่นจะถือเรื่องการบริการที่ทำให้ด้วยใจ พนักงานในญี่ปุ่นจะไม่รับทิป


แต่ก็มีกรณียกเว้น อย่างเช่นที่พักสไตล์ญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าเรียวกัง (ryokan) แต่อย่าเรียกว่าเป็น "ทิป" เลยนะคะ เรียกว่า "สินน้ำใจ" จะดีกว่า เพราะสินน้ำใจเป็นสิ่งที่ใช้แทนคำว่า "ขอความกรุณาช่วยดูแลด้วย " คือ これからお世話になります。よろしくお願いします。(korekara osewa ni narimasu. yoroshiku onegai shimasu) ปกติเราไม่จำเป็นต้องให้นะคะ








แต่ในกรณีที่ร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องต่อไปนี้ ก็ควรมีสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ

1.เมื่อพาเด็กเล็กๆ ไปด้วยหรือเมื่อไปเป็นหมู่คณะ
2.เดินเหินไม่สะดวก เวลาเคลื่อนย้ายต้องขอแรงจากพนักงาน
3.กรณีที่ขอเปลี่ยนห้องเป็นห้องที่ดีกว่า เมื่อมีห้องว่าง

จำนวนเงินที่เหมาะสม :โดยทั่วไปก็ประมาณ 2,000-3,000 เยน แต่น้อยกว่านั้นก็ได้เพราะว่าจำนวนเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการแสดงความขอบคุณ

จังหวะในการให้ :ให้ทิปกับเจ้าหน้าที่ของโรงแรมคนที่พาลูกค้าไปที่ห้องพัก ไม่ได้ให้ทิปตอนจ่ายเงินนะคะ แต่จะให้ทิปตอนถึงห้องพักในตอนแรกเลย เพราะคนญี่ปุ่นจะคิดว่า "หากให้ทิปไว้ตั้งแต่ตอนแรก หลังจากนี้ก็จะไหว้วานให้ช่วยเรื่องต่างๆได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าให้ทิปไปเพื่อขอบคุณที่บริการให้อย่างดีนะคะ ค่าทิปที่เหมาะสมที่สุด คือ 1,000 เยนต่อหนึ่งคืน จะไม่มีการส่งให้กับมือเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม การทิปจะต้องให้อย่างมิดชิด อาจจะใส่ซองให้ สามารถหาซื้อซองได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เรียกกันว่า "โปชิบุกุโระ" (ぽ詩袋)



ตอนที่ให้ก็พูดว่า "รบกวนช่วยดูแลด้วย" よろしくお願いします (Yoroshiku onegai shimasu) แล้วจึงส่งซองเงินให้ หรือไม่ก็สอดไว้ข้างๆ โถข้าว ตอนที่พนักงานมาเก็บภาชนะหลังจากกินอาหารเสร็จแล้ว

กรณีไม่มีซองจริงๆ ก็ควรเสียบไว้ในกระดาษโน้ตสีขาว แล้วส่งให้จะดูดีกว่า แต่ไม่ใช่ห่อด้วยกระดาษทิชชู่นะคะ
 
สำหรับฉันเองก็มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องทิปเหมือนกัน ตอนที่เป็นไกด์ทัวร์ญี่ปุ่นนั้น ก็พาลูกค้าชาวญี่ปุ่นไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ตามโปรแกรม ตอนช่วงที่ไปส่งที่โรงแรมเขาก็มีสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ให้ด้วย เขาก็ยื่นแบงค์ 20 ให้




ก็รู้สึกขอบคุณเขานะคะ ก็เข้าใจว่าการให้ทิปไม่ใช่ธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น และจำนวนเงินก็ไม่เท่ากับการแสดงน้ำใจ แต่ที่ลำบากใจนิดๆ คือให้มา 20 บาท มีเรากับคนขับรถ จะแบ่งกันคนละ 10 บาทก็คงฮา ฉันเห็นพี่คนขับรถน่าจะเหนื่อยกว่าก็เลยมอบเงินจำนวนนั้นเป็นสินน้ำใจให้เขาแทน



  

Posted by mod at 14:08Comments(1)

2016年02月15日

Valentine สมัยวัยละอ่อน

สวัสดี วันจันทร์สีเหลืองนะคะ

เมื่อวานเป็นวันวาเลนไทน์ มีใครไปฉลองที่ไหนหรือเปล่าคะ บางคนอาจได้ไปฉลองกันตามต่างจังหวัดที่บรรยากาศโรแมนติคกันบ้าง

สำหรับฉันก็ไม่ได้ไปไหนไกลเลยคะ ก็สั่งพิซซ่ามาฉลองวันแห่งความรักกันในครอบครัวธรรมดาๆ

แต่เมื่อครั้งตอนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ก็แอบมีเรื่องกุ๊กกิ๊กบ้างอะไรบ้าง ก็แอบว่ามีคนที่เราแอบชอบอยู่ในที่ทำงานพิเศษ




ที่นี้ที่ทำงานพิเศษของเราก็คือปั๋มน้ำมันนั่นเอง (555 เด็กปั้ม) มันก็ต้องมีการเปลี่ยนชุดเป็นชุดฟอร์ม พวกเราก็จะมีล็อกเกอร์ของใครของมัน

ที่นี้ในวันวาเลนไทน์ เราก็แอบเอาชอคโกแลตไปใส่ไว้ในตู้ล็อกเกอร์ของเขา ตื่นเต้นมากเลยค่ะ (ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จีบผู้ชายเลยนะ) เขินจุง




แต่ที่กล้าทำเพราะว่าอย่างน้อยเขาก็อาจมีใจกับเราบ้าง หรือคิดไปเองก็ไม่รู้ เพราะก่อนหน้านั้นเราก็มีแอบเขียนจดหมายฉบับน้อยเสียบไว้ในตู้ล็อกเกอร์กันบ้าง อย่างเช่นบางครั้งบังเอิญวันหยุดตรงกัน เขาก็มีแอบเขียนจดหมายฉบับน้อยมาว่า อยากไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์มัย ถ้าอยากไปเขาก็จะพาไป แต่เนื่องจากในที่ทำงานนั้นมีเพือนของฉันที่เป็นคนไทยทำงานอยู่ด้วย เขาก็เขียนดอกจัน *** ท้ายจดหมายว่า "ถ้าเพื่อนเราไม่อยากไปด้วย เราไปกัน 2 คนก็ได้นะ) Wow เขาแอบมีใจป่าวเนี่ย

แต่เพื่อนฉันก็อยากไปด้วย ดังนั้น เราก็เลยไปกัน 3 คนค่ะ สนุกสนานกันมาก

ความรักเมื่อยังสาว อิอิ ทีนี้ก็รอลุ้นว่า White Day จะได้ของตอบรับกลับมารีเปล่า?   

Posted by mod at 11:38Comments(0)