インバウンドでタイ人を集客! 事例多数で万全の用意 [PR]
ナムジャイブログ
ブログポータルサイト「ナムジャイ.CC」 › 日本が好き › สังคมผู้สูงอายุ

2016年04月12日

สังคมผู้สูงอายุ

สวัสดีค่ะ วันนี้วันที่ 12 เม.ย.อาจเป็นวันสุดท้ายของหลายๆ คนในการทำงานก่อนหยุดยาวช่วงสงกรานต์ หรือบางคนก็อาจหยุดยาวไปแล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ในช่วงวันหยุดสงกรานต์นั้น วันที่ 13 เม.ย.เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย วันนี้จึงขอคุยกันถึงเรื่องผู้สูงอายุกันสักนิดนะคะ

สังคมผู้สูงอายุ

ถ้าพูดถึงสังคมผู้สูงอายุ ประเทศอันดับต้นๆ ที่เราจะนึกถึงก็คือประเทศญี่ปุ่น เพราะว่าขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 (คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 7%) และได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อปีพ.ศ. 2537 (คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 14%) และในปัจจุบัน ประมาณ 23% ของประชากรมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 20%) แล้วก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปีพ.ศ. 2563 ประเทศญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงวัยถึง 29% และจะเพิ่มเป็น 39% ภายในปีพ.ศ. 2593 สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เพราะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน

สังคมผู้สูงอายุ

การดูแลผู้สูงอายุถือว่าเป็นปัญหาหนักอกและหนักกระเป๋าญี่ปุ่นมานานแล้วตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (2482-2486) ด้วยซ้ำ และญี่ปุ่นก็พยายามแก้ไขปัญหา ปฏิรูป ปรับโครงสร้างการดูแลมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ได้จบง่ายๆ แม้ในปัจจุบัน แล้วในขณะเดียวกันระบบการดูแลผู้สูงอายุแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นภายในครอบครัวเริ่มประสบภาวะวิกฤตหรือขาดแคลนเพราะระบบครอบครัวขยายและการดูแลผู้อาวุโสในครอบครัวกำลังหดหายไป

แต่ในปัจจุบันก็ได้เกิดผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุ จากการสำรวจของสมาพันธ์สหภาพการค้าญี่ปุ่นหรือ Japanese Trade Union Confederation (JTUC-RENGO) ได้มีการสอบถามคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีที่ยังทำงานอยู่ ตั้งแต่เดือนก.พ.ถึงเดือนมิ.ย. ในปี 2015 เกี่ยวกับการปรนนิบัติดูแลอย่างเช่นพ่อแม่ โดยมีผู้ตอบคำถามทั้งหมด 8,195 คน มีคนที่ตอบคำถามดังกล่าวมาว่า “กำลังดูแลปรนนิบัติอย่างเช่นพ่อแม่อยู่” และ “เคยดูแลปรนนิบัติภายใน 5 ปี” อยู่ทั้งหมด 2,898 คน

ในบรรดาคนเหล่านั้นมีคนที่ตอบคำถามว่า “เคยคิดที่จะลาออกจากงาน” เพื่อมาดูแลปรนนิบัติอยู่ประมาณ 28% แล้วก็มีคนที่ตอบว่า “เคยลาออกจากงาน” อยู่ที่ 1.6%ด้วย

เหตุผลที่ต้องลาออกก็คือว่า เมื่อมาดูแลปรนนิบัติแล้ว “ไม่สามารถทำงานอย่างที่ผ่านมานั้นได้” มีถึง 48.1% และ “สุขภาพร่างกายของตัวเองนั้นย่ำแย่ลง” มี 44.1% แล้วก็มีคนที่ตอบว่า “ถึงแม้ว่าจะใช้บริการในระบบที่ประเทศจัดเตรียมไว้ให้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถดูแลปรนนิบัติได้เพียงพอ” 43.3%

สมาพันธ์สหภาพการค้าญี่ปุ่นกล่าวว่า “การที่คนที่กำลังทำงานอยู่จะต้องมาลาออกนั้น สำหรับตัวบริษัทเองก็พลอยไม่ดีไปด้วย บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้การทำงานกับการดูแลปรนนิบัตินั้นทำควบคู่กันไปได้ด้วย”

สังคมผู้สูงอายุ

จากข้อมูลนี้ทำให้เราต้องมาตระหนักแล้วว่า อีกหน่อยประเทศไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นนี้ตามมาติดๆ แล้วเราจะมีวิธีการรับมืออย่างไรกันบ้าง?


Posted by mod at 13:07│Comments(0)
上の画像に書かれている文字を入力して下さい
 
<ご注意>
書き込まれた内容は公開され、ブログの持ち主だけが削除できます。